อินเทอร์เน็ต นับวันจะมีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากขึ้น และยุคนี้การใช้อินเทอร์เน็ต
เปิด ร้านค้าออนไลน์ ประกาศซื้อ-ขายสินค้า ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างเงินที่น่าสน โดยเฉพาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องทำเลหรือขาดเงินทุนในการเปิดร้าน ซึ่งวันนี้ก็จะขอเกาะกระแส นำข้อมูลมาให้พิจารณา
● อันดับแรก ก่อนเปิดร้านออนไลน์ ก็ควรต้องพิจารณาหัวข้อต่อไปนี้คือ “ความรู้-ความเข้าใจ” ต้องเข้าใจว่าเว็บไซต์คืออะไร ทำงานอย่างไร ให้ประโยชน์อะไร และจะประยุกต์สินค้าที่มีให้เข้ากับเว็บไซต์ในด้านใดได้บ้าง
● อันดับสอง “การเข้าถึง” หมายถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด ตรงกับเป้าหมายทางธุรกิจและกลุ่มลูกค้า และอันดับสาม “การพัฒนา” ร้านค้าออนไลน์ที่ดีหมายถึงร้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ หมายความว่าต้องมีการอัพเดทข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง
ปัจจุบันแม้ไม่มีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรม ก็สามารถพัฒนาร้านออนไลน์ของตนเองได้ เพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปและมีผู้ให้บริการด้านนี้คอยรองรับอยู่แล้ว
สำหรับการเปิดร้านค้าออนไลน์อาจจำแนกกว้าง ๆ ออกได้ 2 แนวทางคือ...
แนวทางที่ 1 ซื้อชื่อโดเมนและเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ หรือการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ขึ้นเอง ซึ่งสามารถค้นหาบริษัทที่รับจดโดเมนโดยลองค้นหาในเสิร์ชเอ็นจิ้น เช่น google, yahoo, sanook โดยพิมพ์คำว่า “รับจดโดเมน”ก็จะพบรายชื่อบริษัทที่ให้บริการ ซึ่งเรื่องโดเมนนี้อธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนกับชื่อบริษัท ชื่อร้าน หรือชื่อสินค้าบริการของคุณ ซึ่งควรจะเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย ไม่สับสน เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ลองใส่ชื่อที่ต้องการจดลงในช่องค้นหาชื่อเว็บไซต์ ถ้าหากชื่อนั้นยังไม่ถูกใช้งานก็จะสามารถลงทะเบียนเป็นเจ้าของชื่อได้ นอกจากนั้น เรื่องของพื้นที่สำหรับเว็บไซต์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะขนาดของพื้นที่ข้อมูลหรือเซิร์ฟเวอร์จะเป็นตัวเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยราคาพื้นที่จะแตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ วิธีนี้ลูกค้าสามารถเข้าถึง เลือกชมสินค้า รวมทั้งสั่งซื้อ ได้โดยตรง
แนวทางที่ 2 การเปิดร้านค้า การหาพื้นที่ฟรี หรือการลงประกาศสินค้าผ่านทางฟรีเว็บไซต์ ที่เปิดให้บริการลงโฆษณาขายสินค้าและบริการฟรี โดยอาจค้นหาจากในเสิร์ช์เอ็นจิ้นเหมือนแนวทางแรก โดยพิมพ์คำว่า “ร้านค้าออนไลน์” “ลงประกาศฟรี” “ลงโฆษณาสินค้าฟรี” “เปิดร้านฟรี” ก็จะปรากฏเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านนี้มากมาย อาทิ Makewebeasy.com ,Pantipmarket.com เป็นต้น แต่ละเว็บไซต์ก็จะมีเงื่อนไขในการลงประกาศ ขาย หรือโฆษณาสินค้าแตกต่างกันไป เช่น จำนวนรูปภาพ จำนวนสินค้า ขนาดพื้นที่เว็บไซต์ แบบฟอร์มการติดต่อผ่านอีเมล์ ระบบรายการสั่งซื้อ อายุของการลงโฆษณา เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะใช้แนวทางนี้ก็ควรต้องศึกษาให้เหมาะสมกับตัวเอง
ขั้นตอนการทำสำหรับแนวทางที่ 2 ขอยกตัวอย่างจากการเปิดร้านกับเว็บไซต์ Makewebeasy.com โดยเริ่มจากเปิดเข้าไปที่เว็บไซต์ จากนั้นคลิกเปิดที่หัวข้อเว็บไซต์สำเร็จรูป เลือกเว็บไซต์ฟรีเพื่อทดลองใช้งานดูก่อน หากใช้บริการแล้วพอใจก็อาจจะเปลี่ยนเป็นแพ็คเกจได้ในภายหลัง จากนั้นอ่านกฎกติกาดูว่าเหมาะสมกับธุรกิจหรือไม่
จากนั้นคลิกที่เริ่มต้นเปิดร้าน ทำการสมัครเป็นสมาชิก อ่านข้อตกลงการใช้บริการเสร็จก็ตอบยอมรับหากเห็นด้วย จากนั้นกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่ปรากฏอยู่ เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการสร้างเว็บ โดยเริ่มกรอกข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้า โดยเลือกจากหมวดหมู่ที่ต้องการ ตามด้วยรายละเอียดอื่น ๆ เมื่อเสร็จสิ้นครบถ้วนก็ให้ Login เข้าไปจัดการกับร้านค้าออนไลน์ ที่สำคัญ ก่อนที่จะเริ่มต้นใช้บริการ ควรศึกษาเงื่อนไขให้เข้าใจก่อน หรืออาจดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ หรือคู่มือการใช้บริการของเว็บไซต์ออกมาเก็บไว้เพื่อศึกษาด้วย
1.ควรเลือกใช้ชื่อหรือคีย์เวิร์ดที่เหมาะสม เพราะกว่าร้อยละ 90 ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นั้นมีต้นทางมาจากการค้นหาในเสิร์ชเอ็นจิ้น ซึ่งถ้าเลือกคำที่เหมาะสม โอกาสที่ถูกพบและคลิกเข้าดูเว็บย่อมมีมาก
2. ถ้าต้องการให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับต้น ๆ ในการค้นหา ควรทำให้เว็บไซต์อื่น ๆ สร้างลิงค์มาหา โดยอาจใช้วิธีส่งชื่อเว็บไซต์คุณไปยังเว็บไซต์กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ส่งไปยังเว็บไซต์ทางธุรกิจต่าง ๆ หรืออาจจ่ายเงินเพื่อให้เว็บไซต์ชั้นนำสร้างลิงค์มายังคุณ,
3.ซื้อโฆษณา เป็นทางเลือกหนึ่งในกรณีที่การสร้างลิงค์และเลือกคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมยังไม่บรรลุเป้าหมาย
4.บันทึกอีเมล์แอดเดรสของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ไว้เพื่อใช้ติดต่อภายหลัง และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ชื่อเว็บไซต์เป็นที่รู้จัก
อาจเป็นเรื่องเทคนิคที่ดูยากสำหรับคนห่างไฮเทค แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะเรียนรู้ และเมื่อทำได้แล้วในเบื้องต้นจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับ “ไอเดีย+มันสมอง” และ “คุณภาพสินค้า-บริการ” ที่จะทำให้ “ร้านค้าออนไลน์” บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ
ทีมงาน MWE
|