เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงมักเห็นโฆษณาจากเว็บที่เราเคยใช้บริการอยู่บ่อยครั้งไปปรากฎตัวบนเว็บไซต์อื่นๆ ที่เรากำลังใช้อยู่ แถมบางครั้งโฆษณาเหล่านี้ยังเลือกนำเสนอแต่สินค้าและบริการเฉพาะที่เราสนใจด้วย ในช่วงแรกบางคนอาจจะคิดว่าเป็นแค่เรื่องบังเอิญ แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้อยู่บ่อยครั้งหลายๆ คนก็คงเริ่มสงสัยกันบ้างแล้วว่าเหตุใดแบรนด์สินค้าเหล่านี้ถึงคอยเฝ้าติดตามเราไปทุกเว็บไซต์อยู่เสมอ นี่ล่ะคือการ Retargeting ของแบรนด์นั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า Retargeting ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจและมีบทบาทต่อการทำการตลาดในโลกของธุรกิจออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย ทำให้ Incquity จึงอยากหยิบ 1 ใน 6 ของเทรนด์มาจากบทความ “6 เทรนด์การตลาดออนไลน์ในปี 2014” (http://incquity.com/articles/6-online-trends-2014) ที่มีชื่อว่า Retargeting มาให้ได้รู้จักกันครับ
Retargeting คืออะไร?
Retargeting หรือ Remarketing เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดในการกระตุ้นให้ลูกค้ากลับเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการบนเว็บไซต์ของเราอีก โดยมีกระบวนการตามภาพข้างต้น ซึ่งก็คือเมื่อมีลูกค้าเข้ามาสู่เว็บไซต์ของเราแล้วก็จะมีการเก็บข้อมูลของลูกค้าคนนั้นๆ เอาไว้ จากนั้นเมื่อลูกค้าไปใช้บริการเว็บอื่นๆ (ที่ต้องลงโฆษณาของทาง Google เอาไว้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายเว็บไซต์ที่ติดตั้ง) ลูกค้าก็จะเห็น Advertise หรือ Banner ที่โฆษณาสินค้าใหม่ๆ หรือโปรโมชั่นต่างๆ ของเว็บไซต์เรา เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจและกลับเข้ามาใช้บริการบนเว็บไซต์ของเราอยู่เสมอๆ
เหมือนอย่างเว็บไซต์ของ Agoda ที่เปิดให้บริการจองโรงแรมและห้องพักในราคาพิเศษ หากใครเคยเข้าไปใช้บริการในเว็บไม่ว่าจะเคยจองห้องหรือไม่ก็ตาม เมื่อไปเปิดเว็บไซต์อื่นๆ ก็มักจะเห็น Advertises ของ Agoda เกี่ยวโปรโมชั่นราคาห้องพักของสถานที่ท่องเที่ยวที่เราเคยเปิดเข้าไปดูแฝงอยู่ด้วย เผื่อว่าเรายังมีความสนใจอยู่ก็จะได้จองห้องพักกับทาง Agoda ได้เลย ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าวิธีนี้ก็จะเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่ม Conversion Rate ให้กับเว็บไซต์ได้ไม่ยากเลย
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือจากผลสำรวจจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเว็บไซต์ส่วนมากโดยเฉลี่ยนั้นจะมีค่า Conversion Rate หรือ อัตราของการคลิกที่นำไปสู่การซื้อ (คำนวณจาก Conversion Rate = ยอดขายที่เกิดขึ้น/จำนวนคลิก x100 %) อยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น (ซึ่งโดยทั่วไปถือว่ามากแล้ว) นั่นหมายความว่ากว่า 98% ของลูกค้าที่เหลือนั้นเข้ามาในเว็บไซต์แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้เราเลย และในทางเดียวกันมีผลสำรวจที่พบว่า 60% ของนักช็อปออนไลน์ในประเทศอเมริกานั้นยอมรับว่าสินค้าและบริการที่พวกเขาซื้อส่วนมากนั้นก็มาจากการสังเกตเห็น Advertise ของอีกแบรนด์หนึ่งในขณะที่อยู่ในเว็บไซต์ของแบรนด์เจ้าอื่น
ทำไมจึงควรใช้ Retargeting
1) เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้ Retargeting แทนที่จะใช้ Ads และ Banner ทั่วไปก็คือการ Retargeting เป็นวิธีที่เราจะมั่นใจได้ว่าข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ จะไปปรากฏเฉพาะกับลูกค้าที่สนใจหรือเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าการใช้ Ads ตามเว็บต่างๆ ที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าลูกค้าจะสนใจแบรนด์ของเราจริงๆ หรือไม่ อีกทั้งทุกวันนี้ยังมีจำนวนเว็บที่เข้าร่วมโครงการ Google Content Network มากมาย ก็จะยิ่งส่งผลให้ Ads ของเรานั้นสามารถแพร่หลายไปอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ และทำให้ลูกค้ามีโอกาสเห็นโฆษณาของเรามากขึ้น
ซึ่งผลที่ตามมาหลังจากที่ลูกค้าเห็นแบรนด์ของเรามากขึ้นนั้นก็มีอีกมากมายเริ่มตั้งแต่ Brand Awareness หรือการรับรู้ของแบรนด์ที่สูงขึ้น จากนั้นเมื่อแบรนด์ปรากฏขึ้นบ่อยๆ ผู้คนก็จะรู้จักกับแบรนด์เรามากขึ้นจนเริ่มสนใจในแบรนด์ ก่อนที่จะทำการตัดสินใจและนำไปสู่การซื้อสินค้าหรือบริการของเราในที่สุด
2) กำหนดต้นทุนราคาโฆษณาได้
ในด้านราคานี้เราสามารถกำหนดต้นทุนในการลง Ads ในแต่ละวันได้ และสามารถที่จะเลือกใช้หรือหยุดใช้บริการเหล่านี้ตามที่ต้องการได้อีกด้วย ซึ่งรูปแบบของราคาก็คิดได้หลายแบบอย่างเช่น แบบ CPM (Cost per impression) หรือเป็นการคิดราคาตามจำนวนครั้งที่โฆษณาของเราแสดงบนเว็บอื่นๆ หรือจะเลือกแบบ CPC (Cost per click) ที่จะคิดราคาตามจำนวนครั้งที่มีคนเข้ามาคลิกโฆษณาของเราด้วย ทำให้เราสามารถคำนวณ ROI (Return of Invest) หรือผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบจากการลงทุนในแต่ละวันได้ว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
3) อิสระในการกำหนดรูปแบบ Ads
การทำ Ads Retargeting นั้นยังสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เราสามารถกำหนดทั้ง Font, ขนาด,สี และรูปแบบในการนำเสนอได้อย่างอิสระ รวมไปถึงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนได้ละเอียด ทั้งพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายว่าให้คนในโซนไหนเห็นได้บ้าง เช่น ในประเทศหรือต่างประเทศ
บริษัทไหนบ้างที่น่าสนใจในการทำ Retargeting
1. Adroll
คำโฆษณา: “The most widely used retargeting platform in the world.”
ความน่าสนใจ: ทดลองใช้ได้ฟรี 2 สัปดาห์
Website: www.adroll.com
2. Chango
คำโฆษณา: “A programmatic advertising platform that connects marketers with their exact target audience in real time across Display, Social, Mobile, & Video.”
ความน่าสนใจ: มีเครื่องมือในการจัดการปัญหาการตลาดให้เลือกใช้มากมาย
Website: www.chango.com
3. Simpli.fi
คำโฆษณา: “Directly access unstructured data to enable marketers to target, bid, optimize and report at the individual data element level.”
ความน่าสนใจ: มีเครื่องมือทางการตลาดที่รองรับหลาย Platform
Website: www.simpli.fi
แม้ว่า Retargeting จะดูเป็นเครื่องมือที่ดูสะดวกสบายและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ Retargeting ก็ไม่ต่างอะไรจากเครื่องมืออื่นๆ ที่ต้องอาศัยเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจก่อนว่ามีการทำงานอย่างไร รูปแบบการจัดวาง Ads นั้นควรมีลักษณะอย่างไรถึงจะสะดุดตา จะเล่าเรื่องอย่างไรให้น่าสนใจ รวมไปถึงความถี่ของการปรากฏของ Ads ว่าควรมากน้อยแค่ไหน เพราะหากมีการ Retargeting มากเกินไปก็อาจสร้างความรำคาญให้กับลูกค้าได้ และที่สำคัญควรมีการประเมินวัดผลอยู่เสมอเมื่อลงทุนไปแล้ว เพื่อให้เครื่องมือชิ้นนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำการตลาดด้วย
Sources:
1) under30ceo.com/guide-retargeted-marketing
2) www.pawoot.com
3) moz.com/blog/retargeting-basics-what-it-is-how-to-use-it
ที่มา : http://incquity.com/articles/retargeting-online-marketing-strategy-0
admin : 08/05/2557
|