การเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การทำธุรกิจออนไลน์ง่ายและสะดวกขึ้น จึงมีผู้ที่สนใจเข้ามาเปิดเว็บไซต์ขายสินค้าและบริการในรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีทั้งธุรกิจขนาดเล็กใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศก็เริ่มอิ่มตัว เนื่องจากมีอัตราการแข่งขันสูง อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าออนไลน์ในไทยยังมีโอกาสและกลุ่มตลาดอีกมาก ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง และกระตือรือร้นในการเรียนรู้ เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดตามเป้าหมาย
ศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์ ผู้บริหารบริษัท พายซอฟท์ จำกัด ให้ความเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างต่างประเทศอย่างอเมริกาหรือยุโรป ตลาดด้านอีคอมเมิร์ซในประเทศเหล่านี้เริ่มอิ่มตัวและชะลอการเติบโตเนื่องจากมีขนาดใหญ่ แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซค่อนข้างสูง และยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์มือถือหรือเน็ตเวิร์ก 3G ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอีคอมเมิร์ซได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ช่วยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า กัมพูชาอีกด้วย
“อย่างกรณีของต่างชาติที่เข้ามาทำการตลาดในเมืองไทย เราอาจจะมองในแง่ลบว่าต่างชาติเข้ามาแล้วโอกาสผู้ประกอบการไทยจะน้อยลง แต่เราน่าจะมองว่า เพราะมันมีโอกาสทางธุรกิจที่ค่อนข้างดี ต่างชาติเลยเข้ามาให้ความสนใจมาลงทุน เราอาจจะมองว่ามีเจ้าใหญ่มาแล้วเจ้าเล็กอยู่อย่างไร ในฐานะที่เราทำงานให้บริการ บางทีเราก็เจอลูกค้าที่สามารถเติบโตได้ เขาไม่ได้เข้าไปพึ่งอย่างได้อย่างหนึ่ง เช่น Thaitrade หรือภาครัฐ หรือช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากๆ เขาต้องทำอย่างจริงจังและใช้หลายๆ ช่องทางพร้อมๆ กัน” ศุภยศ กล่าว
มองเว็บฯ ให้เป็นธุรกิจพร้อมสร้างแบรนด์ด้วยตนเอง
ศุภยศ ให้ข้อมูลว่า พื้นฐานสำคัญในการเปิดร้านค้าออนไลน์ก็คือ มุมมองของลูกค้าที่เข้ามาทำเว็บฯ โดยจะต้องมองว่า เว็บไซต์ไม่ใช่แค่ช่องทางการโปรโมตสินค้า แต่คือการสร้างแบรนด์ของตนเอง โดยให้คิดว่า ตัวลูกค้าจะมีแบรนด์เป็นของตัวเองและแบรนด์ๆ นี้จะให้ประโยชน์ต่อธุรกิจ เพราะถ้ามองว่า เว็บไซต์เป็นแค่ช่องทางหนึ่งก็จะเห็นความสำคัญน้อยกว่า แต่ถ้ามองว่าหน้าเว็บไซต์เป็นร้านๆ หนึ่ง ลูกค้าก็จะทุ่มเทให้กับธุรกิจออนไลน์ได้มากขึ้น
“แบรนด์ตรงนี้เป็นการที่เราสื่อสารกับลูกค้า เราไม่สามารถบอกลูกค้าว่า ให้เขาไปสร้างแบรนด์เองมา สิ่งที่เราทำคือ บอกว่าคุณต้องทำอะไรบ้าง เราให้คำปรึกษาในฐานะว่า การที่จะทำให้ถึงจุดเป้าหมายคุณต้องทำอะไรบ้าง เช่น เรื่องของการทำเว็บไซต์ ต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน มีข้อมูลสินค้า รายละเอียดพร้อม ทุกอย่างที่จำเป็น เมื่อเว็บไซต์เสร็จแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่ความตั้งใจของผู้ประกอบการมากกว่า ตั้งใจว่าจะเปิดเว็บไซต์ขายของให้ได้กำไร แต่ก็ยังไม่ได้ทำถึงจุดนั้น ลูกค้าต้องมีการเรียนรู้ เข้าใจเรื่องของออนไลน์ เข้าใจเรื่องของเทรนด์มากขึ้น ซึ่งลูกค้าก็ต้องศึกษาด้วย” ศุภยศ กล่าว
การให้ความสำคัญต่อธุรกิจนั้น ศุภยศ ให้ความเห็นว่า จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบแบรนด์ โลโก้ ตัวสินค้า ลูกค้าบางรายอยากทำธุรกิจ อยากทำเว็บไซต์ แต่ไม่รู้ว่าจะขายสินค้าอะไร หรือไม่ก็มีสินค้าอยู่ 2-3 ประเภท ซึ่งถ้าจำนวนสินค้าน้อยจนเกินไป ก็จะไม่มีความหลากหลาย ผู้ประกอบการจึงต้องพร้อมในทุกๆ ด้านนอกเหนือจากการตั้งเว็บไซต์ ทั้งเรื่องของสินค้า การบริการหลังการขาย การส่งของ ซึ่งสิ่งเหลานี้จะช่วยให้หน้าเว็บฯ ร้านค้าดูมีความเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นต้องออกแบบหน้าร้านใหม่บ่อยๆ อีกด้วย
“เราแค่อัพเดตสินค้า หยิบสินค้าขึ้นมาวางบนชั้นให้หลากหลายมากขึ้น หรือมีสินค้าใหม่ๆ เราก็หยิบขึ้นมาโปรโมต เราไม่จำเป็นต้องดีไซน์ใหม่ตลอด แต่บางทีครบปีก็มีการดีไซน์ให้ดูทันสมัยมากขึ้น แค่ทำให้เขารู้สึกว่าเข้ามาในร้านแล้วมีอะไรหลากหลายมากขึ้น หรือมีในสิ่งที่เขาค้นหา บางทีเข้ามาจะซื้อเสื้อแต่ไม่ชอบสไตล์นี้ ก็ไปเจออีกแบบที่ชอบ และเจ้าของเว็บฯ ก็สามารถปิดการขายได้ แต่ถ้าสินค้ามีไม่หลากหลายมากพอ โอกาสในการขายก็จะน้อยลงด้วย” ศุภยศ แนะนำ
สำหรับตัวเว็บฯ เอง ผู้ประกอบการก็ต้องดูแลการออกแบบให้รองรับกับช่องทางที่หลากหลาย ซึ่ง MakeWebEasy เองก็ได้ให้ความสำคัญกับเบราว์เซอร์ทั้ง IE, Firefox และ Chrome เนื่องจากเบราว์เซอร์อาจส่งผลต่อเว็บไซต์หรือทำให้หน้าเพจเปลี่ยนแปลง โดยเวอร์ชั่นใหม่ที่ออกมาอาจจะไม่รองรับเว็บไซต์ หรือแสดงผลแตกต่างกันเมื่อเปลี่ยนเบราว์เซอร์ โดยทาง MakeWebEasy จะคอยดูแลอัพเดตในส่วนดังกล่าวให้ลูกค้าทุกราย รวมทั้งเพิ่มเติมในส่วน HTML5 และ Flash เพื่อรองรับการแสดงข้อมูลบนแท็บเล็ตในอนาคต
“ในอนาคตคงมีการทำเวอร์ชั่นโมบาลย์ ตอนนี้มีแผนว่า จะทำเวอร์ชั่นโมบายล์ให้ลูกค้า อย่างเช่น ถ้าเปิดบนไอโฟน หน้าจอก็จะพอดีสำหรับไอโฟน ถ้าเป็นไอแพดจอใหญ่ก็ไม่ต้อง เรามีการทำหลายๆ อย่าง เช่น มีครั้งหนึ่งที่เว็บไซต์ลงโฆษณากับ Google เขาจะบอกให้ทำเรื่องของความเป็นส่วนตัว เป็นนโยบายเรื่องข้อมูลลูกค้า เพราะเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซต้องมีการเก็บข้อมูลลูกค้า เราต้องมีคำอธิบายว่า ข้อมูลของลูกค้าเราไม่ได้นำไปใช้ต่องานอื่น ถ้าเราไม่มีข้อมูลตรงนี้จะทำให้โฆษณาที่เรามีบน Adwords ไม่ขึ้น เราต้องมีการทำตรงนี้ให้ลูกค้า มีการใส่นโยบายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าด้วย” ศุภยศ กล่าว
ศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์
เข้าถึงสื่อทุกช่องทางเพื่อโปรโมตร้านค้าออนไลน์
หลังจากที่ลูกค้าเปิดเว็บไซต์เรียบร้อยแล้วก็ต้องมีการโปรโมตร้านค้าของตนเอง โดยทาง MakeWebEasy จะนำลูกค้าให้ทำการโปรโมตในหลากหลายช่องทางตามแต่แผนการตลาดของแต่ละร้าน ซึ่งข้อดีของอีคอมเมิร์ซคือ การมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนในทุกระดับ โดยลูกค้าที่มีงบประมาณน้อยก็สามารถโปรโมตผ่าน Facebook, เว็บบอร์ด หรือ SEO ขณะที่ลูกค้าที่ไม่มีเวลาดูแลร้านก็สามารถจ้างบริษัททำการตลาดและทำโฆษณาบน Google Adwords, แบนเนอร์เว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงสื่อออฟไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านต้องทำงานหลายๆ จุดพร้อมกันและให้ความสำคัญจริงจัง
“ตรงนี้เราให้บริการระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ซึ่งถ้าลูกค้าติดขัดอะไรก็จะถามเรา เราอยู่ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาลูกค้าว่า บางคนไม่ได้ใช้เรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กให้เป็นประโยชน์ เราก็จะแนะนำว่ามีฟังก์ชั่นที่สามารถใช้งานได้ ลูกค้าบางคนไม่รู้เลย พอเราแนะนำเขาก็สามารถทำได้เอง แต่ลูกค้าบางคนต้องการจะทำให้ถึงจุดเป้าหมาย แต่เขาก็ไม่เริ่มเสียที เป้าหมายของผู้ประกอบการจะคล้ายๆ กันคือ สร้างผลกำไรที่ดี แต่มันจะมาจากสิ่งที่เราทำลงไปทุกอย่าง เช่น มีสินค้า มีเว็บไซต์เพื่อขายของบนออนไลน์ รวมถึงทำการตลาดอย่างจริงจังด้วย ซึ่งตรงนี้เราให้บริการในฐานะให้คำปรึกษา ถ้าลูกค้ามีคำถามขึ้นมาก็สามารถคุยกับเราได้” ศุภยศ กล่าว
สำหรับวิธีการโปรโมตนั้น ทาง MakeWebEasy ได้พัฒนาระบบให้รองรับต่อช่องทางการโปรโมตใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบให้รองรับนโยบายรักษาความปลอดภัยผู้ซื้อสินค้าของ Google Adwords หรือการปรับจากปุ่ม Share เป็นปุ่ม Like ของ Facebook รวมทั้งยังมีฟังก์ชั่นโปรโมตสินค้า อย่างเช่น ระบบการดึงภาพสินค้าจากหน้าร้านมาแสดงบนแฟนเพจของร้านพร้อมลิงก์กลับไปยังหน้า Add to Cart ของร้าน ทำให้ลูกค้าสามารถคลิกเข้าไปซื้อสินค้าผ่าน Facebook ได้ทันที
“ตอนนี้เรากำลังทำโมบายล์แอพพลิเคชั่นที่สามารถให้ลูกค้าเราใช้งานแอพพลิเคชั่นของเขาได้ ร้านค้าของเขาสามารถทำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้านค้า ร้านค้าไม่ต้องทำแอพฯ เราจะมีการพัฒนาตรงนี้เป็นแอพฯ ให้ลูกค้าใช้ ตรงนี้เป็นฟีเจอร์ที่เราจะทำให้กับลูกค้า เทรนด์ตอนนี้อย่าง Facebook เราก็ทำระบบสำหรับ Facebook ไว้แล้ว ในเวอร์ชั่นต่อไปที่เป็นโมบายล์แอพฯ เราก็จะทำให้ลูกค้ามีไว้ใช้งาน การใช้งานก็คือ ลูกค้าสามารถเอาสินค้าบนเว็บฯ มาขายบนแอพฯ ตัวนี้ การแปลงจากเว็บฯ ไปเป็นแอพฯ เราก็จะมีแอพพลิเคชั่นตัวกลางตัวหนึ่งที่เอามาให้ลูกค้าใช้” ศุภยศ ให้ข้อมูล
ศุภยศ เสริมว่า แอพฯ ดังกล่าวจะเริ่มเปิดตัวบน iOS ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเป็นช่องทางที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงผู้ซื้อผ่านโมบายล์ได้สะดวกขึ้น โดยกำหนดบุ๊กมาร์กหน้าร้านให้ลูกค้าได้ ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อก็สามารถเลือกซื้อสินค้าจากร้านอื่นๆ ผ่านแอพฯ ตัวเดียวกันได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำแอพฯ รวมทั้งยังมีการพัฒนาฟังก์ชั่นอื่นๆ ให้เฉพาะลูกค้าแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม รีสอร์ท ให้สามารถทำระบบจองห้องได้ ทำให้ช่องทางนี้มีความหลากหลายและมีลูกเล่นรองรับความต้องการที่แตกต่างมากขึ้น
“ผมมองว่าเราต้องมีทุกอย่าง ถ้าเราพึ่งบุคคลที่สามมากเกินไป ถ้ามีรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเราอาจปรับตัวไม่ทัน อย่างเช่น Facebook ปรับอะไรก็ตาม หรือถ้าเราไม่ได้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เราใช้ของบุคคลที่สามทุกอย่าง แต่ถ้าวันหนึ่งสัดส่วนรายได้เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการก็จะปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน มันต้องทำทุกๆ ช่องทางตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะปิดหูปิดตาทำแค่ช่องทางเดียว ไม่ทำช่องทางอื่นๆ เพราะตอนนี้เทคโนโลยีมันเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่อย่างบางธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกช่องทาง เช่น ถ้าเราขายสินค้าการใช้เว็บฯ ดีลก็ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับความต้องการ แผนการตลาดของเรามากกว่า” ศุภยศ แนะนำ
มุ่งมั่นกับการทำธุรกิจและอัพเดตความรู้อยู่เสมอ
ศุภยศ ยังได้ยกตัวอย่างร้านค้าที่มีความพร้อมว่า ลูกค้าจะไม่อยากได้เว็บไซต์ที่เป็นแทมเพลตเหมือนทั่วไป แต่ต้องการเว็บไซต์ที่แสดงตัวตนของแบรนด์เอง ทั้งยังทราบว่าสินค้าของตนคืออะไร แบรนด์คืออะไร โดยจะเน้นสิ่งเหล่านี้ผ่านทางการออกแบบเว็บไซต์ รวมทั้งแนะนำว่า เจ้าของร้านค้ายังต้องตระหนักว่า ตนเองเปิดร้านค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่หน้าเว็บไซต์ และมีวินัยในการอัพเดตสินค้า ตอบกลับลูกค้าทันทีที่มีการสั่งซื้อสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าร้านนี้เชื่อถือได้ มีตัวตน มีความใส่ใจ และเกิดความจงรักภักดีกับแบรนด์ด้วย
“ผมจะมองแค่ 2 อย่างในตอนนี้คือ ต้องโฟกัสกับธุรกิจ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เขาต้องทำ เช่น เรียนรู้เรื่องของ Google ไม่ว่าจะเป็น SEO, Adwords หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการทำพวกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตอนนี้มีเรื่อง AEC เขาก็ต้องศึกษาว่า พอเปิด AEC แล้วเขาจะปรับตัวอย่างไร เขาอาจจะทำภาษาก่อนเริ่มต้นง่ายๆ ทำภาษาไทยแล้วก็มีภาษาอังกฤษด้วย อาจจะทำแค่เบื้องต้นก่อนเพื่อรองรับการขยายตลาดได้ เป็นเรื่องของการศึกษาด้วยตนเองว่าต้องเรียนรู้ อย่างเช่น เรื่องของกฎหมาย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องศึกษา บางทีเราไม่ทราบเรื่องกฎหมายเราก็พลาด แต่ถ้าเราศึกษา ให้เวลากับมัน เราก็สามารถทำได้” ศุภยศ แนะนำ
นอกจากการโปรโมตร้านค้าแล้ว ศุภยศ ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบหลังการขาย โดยร้านค้าจะต้องส่งสินค้าให้เร็ว และถ้ามีลูกค้าติดต่อมาก็ต้องติดต่อกลับภายในเวลาที่เรากำหนด เนื่องจากเว็บไซต์แตกต่างจากร้านค้าจริงๆ คือไม่มีหน้าร้าน ร้านค้าออนไลน์จึงต้องแข่งขันกันด้านการบริการเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยลูกค้าจะรู้สึกมั่นใจ และมาซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องกับร้านที่มีการตอบอย่างต่อเนื่อง รับผิดชอบ และไม่ทิ้งลูกค้า มากกว่าร้านค้าที่เข้ามาตอบคำถามในอีเมลหรือเว็บบอร์ดช้า
“เจ้าของร้านสามารถเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาซื้อสินค้ากับเขาได้ทั้งหมด โดยที่เก็บข้อมูลทุกอย่าง เช่น เบอร์โทรศัพท์ รายชื่ออีเมล และสามารถนำรายชื่ออีเมลไปส่งอีเมลเพื่อไปทำ E-mail Marketing หรือจะเอาเบอร์ไปทำ SMS เราก็มีระบบ SMS ให้ส่ง ซึ่งมันมีการทำเรื่องของการตลาดต่างจากที่ขายได้แล้ว มีโปรโมชั่นใหม่สำหรับเดือนนี้ก็ส่งอีเมลไปแจ้งลูกค้า ซึ่งระบบตรงนี้มันรองรับ เรามีเครื่องมือให้แต่ลูกค้าต้องเอาไปใช้ ถ้าลูกค้าไม่ใช้เครื่องมือที่เรามีให้เลย คนที่จะได้รับผลประโยชน์คือลูกค้า” ศุภยศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศุภยศ ทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ขั้นตอนทั้งหมดในครั้งเดียว โดยสามารถเริ่มต้นจากการทำเว็บฯ และค่อยๆ เรียนรู้ในส่วนอื่นตามลำดับความสำคัญ และวางแผนในช่วงสั้นๆ แต่ละจุด อย่างเช่น ถ้าอยู่ในขั้นตอนของการทำเว็บไซต์ก็ไม่จำเป็นต้องคิดข้ามขั้นไปถึงการตลาด ซึ่งทาง MakeWebEasy ก็พยายามแนะนำวิธีการให้ลูกค้าปฏิบัติได้ง่ายที่สุด เพื่อให้ลูกค้าแต่ละรายสามารถปรับตัวและใช้เวลาเรียนรู้ได้เต็มที่ ขณะที่ลูกค้าเองก็ต้องให้เวลากับการเรียนรู้ด้วย
“สำหรับธุรกิจออนไลน์อย่างเว็บฯ ดีล เมื่อเป็นกระแสทุกคนก็แห่กันลงไป พอทุกคนแห่ลงไปก็จะมีเจ้าที่อยู่ได้ และล้มหายไป คนที่อยู่ได้ตรงนี้ก็เพราะเขาตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ ซึ่งถ้ามีการทำธุรกิจอย่างตั้งใจและเราโฟกัสมัน เราก็จะอยู่ในท้องตลาดตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บฯ ดีลหรือเว็บฯ ที่เกิดใหม่ ผมมองว่าโอกาสมี แต่ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจจะมองเห็นและไขว่คว้ามันได้ไหม” ศุภยศ กล่าว
ขอขอบคุณที่มา : http://new.ecommerce-magazine.com/issues/165/September_2012_Ecover_MakeWebEasy
ทีมงาน MWE : pair admin
12/05/56
|